ศสพ.ระยอง ชวนคุณทำความรู้จัก " ผึ้งและชันโรง " แมลงตัวจิ๋วสารพัดประโยชน์

ผึ้งและชันโรงมีประโยชน์อย่างไร

ผึ้งและชันโรง ช่วยผสมเกสรเพิ่มการติดผลในพืชผลทางการเกษตรหลากหลายชนิด และยังช่วยในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้ดีขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ยังให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้และมีประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งด้านสุขภาพและความงาม เช่น น้ำผึ้ง เกสรผึ้ง นมผึ้ง ไขผึ้ง พรอพอลิส และพิษผึ้ง ส่วนชันโรงให้ผลผลิตเป็นน้ำผึ้งที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และชันที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งเกษตรกร สามารถนำไปจำหน่ายได้โดยตรง หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภค ช่วยลดรายจ่ายในชีวิตประจำวันและสร้างรายได้เสริมแก่ตนเองและครอบครัวได้

วรรณะของชันโรง  แบ่งออกเป็น 3 วรรณะ

1. นางพญา นางพญาชันโรงมีขนาดใหญ่ มีลำตัวยาวกว่าชันโรงตัวผู้และชันโรงงาน ส่วนอกและขา มีสีเหลืองอ่อน ส่วนท้องมีขนาดอ้วนและกว้างกว่าส่วนอกและส่วนหัว หนวดสีเหลืองตารวมมีสี เหลืองอ่อน มีตาเดี่ยว ๓ ตา ขาค่อนข้างเรียวเล็ก ขาหลังไม่แผ่แบน ไม่มีขนแปรง

2. ชันโรงงาน ชันโรงงานมีส่วนอก และท้องสีเหลืองเข้มกว่านางพญา ส่วนขาทั้ง ๓ คู่ มีฟีเมอร์ (femur) สีเหลืองเข้มเช่นเดียวกับอกและท้อง ส่วนของ ( tibia) ของขาคู่หน้า คู่กลางมีสีน้ำตาล อ่อน และคู่หลังสีดำแผ่ขยายเป็นรูปใบพาย ปีกปกคลุมยาวเลยส่วนท้อง

3. ชันโรงตัวผู้ ชันโรงตัวผู้มีอกและท้องสีน้ำตาลเข้ม ตารวมเจริญพัฒนาดี ส่วนของกราม (mandible) ไม่พัฒนาสำหรับใช้งาน หนวดยาว ปลายหนวดปล้องที่ 12 และ 13 สีดำ ส่วน ปลายโปร่งเล็กน้อย หนวดเป็นลักษณะเด่นของตัวผู้ ส่วนของ ventral sternum plate โค้งเว้า เป็นรูปตัวยูแตกต่างไปจากชันโรงงาน ส่วนปลายท้องปล้องสุดท้ายปรากฏครีบ สําหรับผสมพันธุ์ (genitalia) 1 คู่ชัดเจน การจัดเรียงขนบน tibia และ tarsus ขาหลังของตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าชัน โรงงาน


วรรณะของผึ้ง แบ่งออกเป็น 3 วรรณะ

 1. นางพญา กำเนิดมาจากไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อตัวผู้ และได้รับรอยัลเยลลี่จากผึ้งงาน ทำให้นางพญามีความสมบูรณ์ ลำตัวยาว อายุยืนกว่าผึ้งตัวผู้และผึ้งงาน ผึ้งนางพญามีเหล็กในเอาไว้ทำลายหลอดนางพญา และต่อสู้กับนางพญาตัวอื่นเท่านั้น ไม่มีการออกไปหาอาหาร ไม่มีที่เก็บละอองเกสร และไม่มีต่อมผลิตไขผึ้ง ผึ้งนางพญาในรังมีเพียงตัวเดียวเท่านั้น มีหน้าที่ สำคัญ คือ ผสมพันธุ์ จะผสมพันธุ์กลางอากาศและครั้งเดียวในชีวิต วางไข่วันละประมาณ 1 ,200- 2,000 ฟอง และควบคุมสังคมของผึ้งให้อยู่ในสภาพปกติ โดยมีสารฟีโรโมนควบคุม

2. ผึ้งงาน เกิดจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์กับน้ำเชื้อตัวผู้ เป็นผึ้งเพศเมียขนาดเล็กที่สุด ภายในรัง แต่มีปริมาณมากที่สุด ผึ้งงานมีอวัยวะต่อมผลิตอาหาร ต่อมผลิตไขผึ้ง ต่อมพิษ ตะกร้า เก็บเกสร และเหล็กใน ผึ้งงานมีหน้าที่ทำความสะอาดรัง ผลิตอาหารป้อนตัวหนอน และนางพญา สร้างและซ่อมแซมรัง ป้องกันรัง น้ำหวาน เกสร ยางไม้และน้ำ

3. ผึ้งตัวผู้ กำเนิดมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อตัวผู้ มีขนาดลำตัวอ้วน ป้อม สั้น ไม่มีเหล็กใน ไม่มีตะกร้าเก็บเกสร มีหน้าที่สำคัญ คือ ผสมพันธุ์อย่างเดียว หลังจากผสมพันธุ์ เสร็จผึ้งตัวผู้จะตาย



การนำน้ำผึ้งชันโรงมาใช้ประโยชน์

คนไทยรู้จักการใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่ได้ชันโรงซึ่งสามารถเก็บได้จากรังชันโรงตามธรรมชาติมาเป็นระยะเวลานาน ได้แก่ การนำน้ำผึ้งมาบริโภคโดยตรง โดยมีความเชื่อกันว่า น้ำผึ้งจากชันโรงมีสรรพคุณทางยามากกว่าน้ำผึ้งจากผึ้ง จึงมักนิยมใช้น้ำผึ้งชันโรงเป็นองค์ประกอบของยาสมุนไพร น้ำผึ้งชันโรงสามารถแปรรูปเป็นสบู่น้ำผึ้งชันโรง ช่วยปกป้องผิวจากความแห้งกร้านด้วยส่วนผสมจากน้ำผึ้งชันโรงที่มีสรรพคุณบำรุงผิว ด้วยคุณสมบัติของน้ำผึ้งชันโรงที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งมี pH ใกล้เคียงกับสภาพผิวปกติ และมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียบนผิวได้ดี การแปรรูปอาจแปรรูปเป็น สบู่ก้อน หรือสบู่เหลว โดยสบู่น้ำผึ้งชันโรงมีคุณสมบัติเด่น คือ อุดมไปด้วยวิตามินต่างๆ ช่วยให้ผิวเนียนนุ่ม ชุ่มชื่น ลดเลือนริ้วรอยที่เกิดจากอนุมูลอิสระไม่ระคายเคืองผิว เนื่องจากมีส่วนผสมจากสารธรรมชาติ นอกจากนี้ยังสามารถนำน้ำผึ้งชันโรงไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตแชมพูน้ำผึ้งชันโรงผสมสมุนไพร ลิปบาล์มไขผึ้งผสมน้ำผึ้งชันโรง

องค์ประกอบในเกสรผึ้ง

องค์ประกอบในเกสรผึ้งจะขึ้นกับชนิดของพืชและแหล่งของพืชที่ผึ้งไปเก็บสะสมอาหารโดยทั่วไปจะมี สารอาหารโดยประมาณดังนี้ โปรตีน 30 – 35 % กรดอะมิโน 15 – 20 % คาร์โบไฮเดรต 40 – 50 % ไขมัน 1 – 5 % และแร่ธาตุต่างๆ เช่น โซเดียมโพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม เหล็ก ทองแดง สังกะสี ฟอสฟอรัส เป็นต้น วิตามินที่พบ ได้แก่ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี5 หรือไนอะซิน กรดเพนโททีนิก (panthothenic acid) ไบโอทิน (biotin) กรดโฟลิก (folic acid) วิตามินซี และวิตามินอี นอกจากนี้ ยังมีเอนไซม์ต่างๆ ฮอร์โมน รงควัตถุ และสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) โดยควรมีความชื้นไม่เกิน 25 %



ครั้งหน้าจะมาสอนวิธีการเลี้ยงและการจัดการชันโรงกันนะครับ

ติดตามเรื่องราวการเลี้ยงผึ้งและชันโรง โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานและขั้นตอนในการเลี้ยง ในครั้งต่อไปนะครับ  

ความคิดเห็น