" ห่อผล ได้ประโยชน์อย่างไร " ศสพ.ระยอง แบ่งปันสาระน่ารู้ในการจัดการไม้ผลไม้ยืนต้นที่จะเพิ่มมูลค่าผลไม้ของคุณ

 

การห่อผล เป็นหนึ่งในแนวการใช้วิธีกล โดยใช้เครื่องมือแบบง่ายๆ เพื่อป้องกันศัตรูพืช วิธีนี้เหมาะกับการทำการผลิตในพื้นที่ไม่กว้างมากนัก เกษตรกรพอมีแรงงานและเวลาในการจัดการ ซึ่งแต่เดิมการห่อผลจะเป็นการนำเศษวัสดุเหลือใช้ที่สะอาด เช่น หนังสือพิมพ์เก่า หรือถุงพลาสติก มาใช้ในการห่อผลผลิต แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของความคงทน เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์อาจโดนฝนหรือน้ำค้างทำให้เปียกและขาดได้ นอกจากนี้ในเรื่องของคุณสมบัติก็จะมีเพียงส่วนช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายผลผลิตเท่านั้น ต่อมานักวิจัยได้พยายามคิดค้นถุงห่อที่มีคุณสมบัติที่มากกว่าแค่ช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืช อาทิ

-          คุณสมบัติในการช่วยพัฒนาสีผิวผล

-        คุณสมบัติในการทำให้แสงสามารถส่องผ่านเข้าไปในผลได้ จึงมีการสะสมอาหารในผลมากขึ้น ส่งผลต่อขนาดของผล และความแน่นเนื้อของผล

-          คุณสมบัติป้องกันความชื้นและอากาศให้ผ่านเข้าออกได้บ้าง ลดการเน่า และลดการเกิดโรคที่เกิดจากเชื้อรา

และนอกจากนี้ คุณสมบัติของถุงห่อประเภทต่างๆ ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบทางเคมีภายในผลที่แตกต่างกันไป เช่น ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (Titratable Acidity :TA) ปริมาณของแข็งทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ (Total Soluble Solid :TSS) ที่แสดงออกมาเป็นความเปรี้ยวและความหวานของผล ตัวอย่างถุงห่อประเภทต่างๆมีดังนี้ ถุงกระดาษคาร์บอน ถุงกระดาษสีขาว ถุงพลาสติกสีต่างๆ ถุงผ้าสปันบอนด์ เป็นต้น ทั้งนี้โดยสรุปการห่อผลไม้ให้ประโยชน์ดังนี้

1.       ช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้สารเคมี และปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

2.       ผลผลิตปลอดภัยต่อการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช แต่ไม่อาจป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

3.       มีอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้น อันเนื่องมาจากการที่ผลผลิตไม่โดนศัตรูพืชเข้าทำลาย

4.       ผิวผลจะสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยของศัตรูพืชเข้าทำลายและจากการถูกเสียดสีจากกิ่งหรือผลที่อยู่ใกล้กัน มีสีสันที่สวยงามสดใส แต่ทั้งนี้สีที่ผิวผลจะขึ้นอยู่กับชนิดถุงห่อที่เลือกใช้

5.       เพิ่มมูลค่าของผลผลิต สามารถขายในลักษณะของผลไม้เกรดพรีเมี่ยมได้

ขั้นตอนการห่อผล

          จะนิยมห่อผลในขณะที่ลูกยังเล็กอยู่ เนื่องจากผิวผลยังมีลักษณะที่แข็ง ยากต่อการเข้าทำลายของศัตรูพืช โดยจะต้องทำการตัดแต่งผลที่ไม่มีคุณภาพ รูปทรงผิดปกติออก และไว้ผลในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้ต้นสามารถเลี้ยงผลได้อย่างเต็มที่ ผลที่ได้ก็จะมีขนาดใหญ่สมบูรณ์ (การปลิดผลหรือตัดแต่งผลที่ไม่สมบูรณ์ออก ในไม้ผลที่มียางอย่างเช่น มะม่วง ควรทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้ยางหยดลงบนผลที่จะทำการห่อ เพราะจะทำให้ผิวผลไม่สวย) จากนั้นก่อนห่อผล 1 วัน ให้ทำการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรครา เช่น โพรพิแนบ 70% WP และแมลงศัตรูพืช เช่น ไทอะมีโทแซม 25% WG แลมบ์ดาไซฮาโลทริน เป็นต้น การห่อผลจะต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้ผลผลิตบอบซ้ำ ห่อ 1 ผลต่อ 1 ถุงห่อ จากนั้นให้ระบุวันดอกบานหรือรุ่นของผลผลิตบนถุงห่อเพื่อกำหนดระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม และสุดท้ายในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มียาง ก็จะต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้ยางไหลมาโดนผิวผล


ทั้งนี้การเลือกใช้ถุงห่อที่เหมาะสมกับผลไม้ชนิดต่างๆ เกษตรกรสามารถหาข้อมูลงานวิจัยการห่อผลได้จากงานวิจัยของสถาบันการศึกษาต่างๆ หรือหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างเช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น หรือจากบริษัทผู้ผลิตถุงห่อผลไม้ ซึ่งถุงห่อแต่ละประเภทจะมีคุณสมบัติที่ส่งผลต่อผลผลิตแตกต่างกันไปและมีราคาที่แตกต่างกัน การเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตรกร และจุดมุ่งหมายของการจำหน่ายผลผลิต ซึ่งการห่อผลผลิตจะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งมีสามารถกำหนดเกรดหรือคุณภาพของผลผลิต และราคาของผลผลิตได้

ตัวอย่างงานวิจัย


อ้างอิงข้อมูล : เจนจิรา ชุมภูคำ. บทความวิจัย ผลของชนิดวัสดุห่อผลต่อคุณภาพของมะม่วงพันธุ์น้ำอกไม้เบอร์ 4

                                                                                   

       เรียบเรียงบทความโดย

                                                                                                     นายธนิสร ศิริโวหาร

                                                                                 นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ

ความคิดเห็น