ศสพ.ระยอง แบ่งปันแนวทางปฏิบัติในการเก็บเกี่ยวละมุด


        แปลงเรียนรู้การปลูกละมุด ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดระยอง เป็นแปลงเรียนรู้การทำสวนไม้ผลอีกหนึ่งชนิดนอกเหนือจากไม้ผลหลักสำคัญๆในภาคตะวันออก เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ  ละมุดเป็นพืชที่ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่างๆได้ดี เช่น สภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ สภาพแห้งแล้ง และสภาพน้ำท่วมขัง แต่ถ้าอากาศร้อนจัดในฤดูร้อนอาจส่งผลกระทบต่อการติดผลได้ โดยละมุดสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4 รุ่นต่อปี และมีอายุเก็บเกี่ยวตั้งแต่ดอกบานจนกระทั่งผลแก่เริ่มเก็บเกี่ยวได้ ประมาณ 7-8 เดือน



แนวทางปฏิบัติในการเก็บเกี่ยวละมุด มีดังนี้

1.เลือกเก็บเกี่ยวผลที่แก่ โดยวิธีการดูด้วยสายตา ซึ่งผลละมุดที่แก่จะมีลักษณะดังนี้

- ผลเต่ง

- จุกแหลมที่ก้นผลจะหลุดออก

- ไคลบนผิวจะผลุดออกง่ายเมื่อถูเบาๆ

- สีเปลือกจะมีสีเขียวอ่อนอมเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อน

2.ถ้าต้นไม่สูง ควรเก็บเกี่ยวผลผลิตทีละลูกด้วยมือ เพราะละมุดจะมีผิวเปลือกที่บาง ซึ่งจะเกิดการช้ำและจะเห็นบริเวณที่เกิดการช้ำได้ง่ายเมื่อบ่มสุกแล้ว โดยบริเวณที่เกิดการช้ำจะนิ่มเละ ไม่น่ารับประทาน

3.ละมุดที่พึ่งเก็บเกี่ยวจะมียางค่อนข้างมาก จึงต้องนำไปล้างเพื่อกำจัดยางและทำความสะอาดผิวภายนอกให้สะอาด แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้แก่การช้ำ จากนั้นจึงนำไปผึ่งลมให้แห้ง

4.ละมุดเป็นผลไม้ที่สามารถบ่มให้สุกได้ (Climacteric fruit) ดังนั้นถ้าเก็บผลผลิตที่แก่แล้วนำมาบ่มก็จะทำให้ผลผลิตสุกสม่ำเสมอกันทุกผล โดยมีแนวทางการบ่ม ดังนี้

- นำผลผลิตที่ทำความสะอาดและผึ่งลมจนแห้งแล้ว นำใส่กล่องโฟมและปิดฝาจากนั้นนำไปผึ่งแดด ผลผลิตจะสุกพร้อมรับประทานได้ภายใน 2 วัน แต่ถ้าวางไว้ในที่ร่มจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ทั้งนี้ผลที่สุกจะมีผิวผลที่นิ่มลง เมื่อผ่าหรือปลอกเปลือกจะไม่มียาง รสชาติหวานกรอบ แต่ถ้าผลผลิตยังไม่สุกเต็มที่หรือเป็นการเก็บผลอ่อนมาบ่ม ผลผลิตที่ได้จะยังคงมีรสฝาดถึงแม้ผลจะนิ่มแล้วก็ตาม





คุณค่าทางโภชนาการของละมุด ต่อ 100 กรัม มีดังนี้

พลังงาน 83 กิโลแคลอรี                                          ธาตุแคลเซียม 21 มิลลิกรัม 2%

คาร์โบไฮเดรต 19.96 กรัม                                       ธาตุเหล็ก 0.8 มิลลิกรัม 6%                           

เส้นใย 5.3 กรัม                                                      ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม 3%                                 

ไขมัน 1.1 กรัม                                                     ธาตุฟอสฟอรัส 12 มิลลิกรัม 2%

โปรตีน 0.44 กรัม                                                   ธาตุโพแทสเซียม 193 มิลลิกรัม 4%

วิตามินบี 2 0.02 มิลลิกรัม 2%                                 ธาตุโซเดียม 12 มิลลิกรัม 1%

วิตามินบี 3 0.2 มิลลิกรัม 1%                                     ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%

วิตามินบี 5 0.252 มิลลิกรัม 5%                              วิตามินซี 14.7 มิลลิกรัม 18%

วิตามินบี 6 0.037 มิลลิกรัม 3%                                   

วิตามินบี 9 14 ไมโครกรัม 4%

ที่มา : https://sites.google.com/site/gardensapodilla/pra-yon-ch-khxng-lamud


เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจปลูกละมุดสามารถเข้าเยี่ยมชมหรือปรึกษาได้ที่ 
นายธนิสร ศิริโวหาร ตำแหน่ง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดระยอง ตามวันและเวลาราชการ


ความคิดเห็น