บทความ: แนวทางป้องกันความเสียหายจากลมที่จะส่งผลต่อต้นและผลผลิต

 

แนวทางป้องกันความเสียหายจากลม
ที่จะส่งผลต่อต้นและผลผลิต
ภาพ/บทความ โดย นายธนิสร ศิริโวหาร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ



ปัจจุบันสภาพอากาศของโลกมีความแปรปรวนค่อนข้างมากอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน ทำให้ฤดูกาลไม่แน่นอน บางปีเกิดสภาวะฝนแล้งจนขาดแคลนน้ำ หรือบางปีฝนตกชุกจนเกิดเหตุการณ์อุทกภัย การเกิดพายุก็มีความรุนแรงขึ้นจนเกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน ต้นไม้ และพืชผลทางการเกษตร ดังนั้นในการทำการเกษตรในปัจจุบันจะต้องมีการวางแผนรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดหรือไม่เกิดความเสียหายเลย ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนจะหยิบยกแนวทางการป้องกันความเสียหายอันเนื่องจากลม ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเสียหายได้ในวงกว้างถ้าไม่มีการรับมือที่ดี โดยแนวทางป้องกันความเสียหายจากลม มีดังนี้

1.การตัดแต่งและควบคุมทรงพุ่ม

        การตัดยอด เป็นการลดความสูงของต้น เพื่อไม่ให้ต้นเกิดการโค่นล้มได้ง่ายเมื่อถูกลมปะทะ โดยจะกำหนดความสูงของต้นในระดับที่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง เช่น การพ่นสารเคมี และการเก็บเกี่ยวผลผลิต ตัวอย่างเช่น ทุเรียน จะตัดยอดควบคุมความสูงต้นให้อยู่ในระดับความสูง 5-6 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่สามารถใช้รถพ่นยาฉีดพ่นได้ทั้งทรงพุ่ม และถ้าเป็นไม้ผลที่จะต้องมีการห่อผล เช่น มะม่วง ชมพู่ จะตัดแต่งให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 4 เมตร หรืออยู่ที่ 1-2 เมตร ซึ่งการควบคุมความสูงของต้นให้อยู่ในระดับต่ำๆยิ่งทำให้ต้นพืชมีโอกาสโค่นล้มได้ยากเมื่อถูกแรงลมปะทะ และยังทำให้สามารถดูแลต้นได้อย่างสะดวกและทั่วถึง


         การตัดแต่งกิ่งและการไว้กิ่งให้กระจายออกรอบทิศทาง จะช่วยในการรักษาสมดุลของต้น ไม่ให้มีน้ำหนักเทไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งถ้าต้นพืชมีตำแหน่งของกิ่งหนักไปทางด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อถูกลมปะทะและดินมีการอ่อนนุ่มลงจากการได้รับน้ำฝน ต้นพืชก็อาจโค่นล้มได้ง่าย


         การตัดแต่งกิ่งลดจำนวนใบเพื่อให้ต้นโปร่ง จะช่วยให้ต้นมีพื้นที่ปะทะลมลดลง ลมสามารถพัดผ่านต้นไปได้ ลดการต้านทานต่อกระแสลม และยังช่วยลดน้ำหนักที่จะเกิดขึ้นกับกิ่งซึ่งเป็นสาเหตุให้กิ่งเกิดการฉีกได้เมื่อเจอฝนและลม นอกจากนี้การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ยังช่วยให้แสงแดดสามารถส่องถึงทั่วทั้งต้น เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างอาหารของใบ ลดการเกิดโรคและแมลงอีกด้วย


2.การค้ำและโยงกิ่ง

           การค้ำกิ่ง เป็นการใช้ไม้ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เป็น ลำไผ่รวก ค้ำที่กิ่งเพื่อช่วยรองรับน้ำหนักของกิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่พืชมีการติดผล ซึ่งน้ำหนักของผลอาจทำให้กิ่งรับน้ำหนักไม่ไหวและเกิดการฉีกหักได้ ในไม้ผลหลาย ๆ ชนิด เกษตรกรมีการใช้ไม้ไผ่ช่วยพยุงกิ่ง อาทิ ทุเรียน ลิ้นจี่ ลำไย เป็นต้น แต่ทั้งนี้การเลือกใช้ไม้ไผ่จะต้องเลือกลำที่แก่ และไม่ควรนำมาใช้ทันทีหลังจากตัด เพราะไม้ไผ่ที่ยังสดอยู่ จะมีการให้ตัวและโค้งงอได้ตามน้ำหนักที่กดลงบนไม้ไผ่ ซึ่งจะทำให้รับน้ำหนักของกิ่งได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นก่อนนำมาใช้ควรตัดวางทิ้งไว้ให้เนื้อไม้ไผ่แห้งและแข็งตัวก่อน จึงจะนำมาใช้

 


        การโยงกิ่ง จะเป็นนำเชือกผูกโยงระหว่างกิ่งกับลำต้นหลัก เพื่อช่วยดึงรั้งกิ่งเอาไว้ไม่ให้เกิดการฉีกหักเมื่อกิ่งมีน้ำหนักจากการติดผล วิธีนี้จะทำให้พื้นที่บริเวณทรงพุ่มไม่มีสิ่งกีดขวางอย่างเช่นการค้ำกิ่ง ซึ่งจะสะดวกต่อการจัดการสวนอย่างเช่น การตัดหญ้า ฉีดพ่นยา และถ้ามีการใช้เชือกที่มีคุณภาพก็จะคงทนอยู่ได้นาน ซึ่งแตกต่างกับไม้ไผ่ที่มีอายุการใช้งานสั้นอยู่ที่ประมาณ 2 ปีก็จะผุไม่สามารถรับน้ำหนักของกิ่งได้ การโยงกิ่งด้วยเชือกยังช่วยเพิ่มความมั่นคงและความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกร ในกรณีที่เกษตรกรจะต้องขึ้นไปเหยียบบนกิ่งเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต อย่างเช่น การเก็บเกี่ยวทุเรียน



3.การยึดต้นและโยงต้น

            การยึดต้น เป็นการยึดลำต้นด้วยเชือกลงกับหลักที่ปักลงดินทั้ง 4 มุม เพื่อให้ต้นมีความมั่นคงแข็งแรงทนต่อแรงลมที่จะมาปะทะ ทำให้ต้นไม่เกิดการโคนล้มได้ง่าย ซึ่งวิธีนี้มักใช้ในไม้ขุดล้อมเพื่อพยุงต้นให้มีความมั่นคงทดแทนรากที่ถูกตัดออกไป แต่ในปัจจุบันจะพบว่ามีเกษตรกรชาวสวนทุเรียนนำวิธีการผูกยึดต้นไปใช้เพื่อลดความเสียหายจากการโค่นล้มอัน เนื่องมาจากลมพายุ แต่ทั้งนี้การผูกยึดต้นเป็นวิธีการที่ต้องลงทุนค่อนข้างสูง เชือกและหลักจะต้องแข็งแรงและมีคุณภาพจึงจะต้องทนแรงลมที่จะเข้ามาปะทะได้


        การโยงต้น วิธีการนี้เป็นแนวคิดซึ่งเกิดจากการทดลองของเกษตรกร ซึ่งใช้การผูกเชือกกับลำต้นระหว่างต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งและโยงต่อกันไปเรื่อยๆให้เป็นลักษณะคล้ายใยแมงมุมหรือร่างแห โดยต้นที่อยู่ขอบแปลงจะมีการผูกต้นยึดกับหลักที่ปักลงดิน วิธีการนี้เชือกที่ผูกโยงกันไปมาระหว่างต้นจะช่วยยึดให้ต้นเกิดความแข็งแรงทนต่อแรงลมที่จะเข้ามาปะทะ


4.การปลูกไม้บังลม

             ไม้บังลม เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดความรุนแรงของลมพายุ ซึ่งจะปลูกบริเวณขอบแปลง โดยไม้บังลมจะนิยมใช้ไม้ยืนต้นซึ่งไม่มีการผลัดใบ และมีพุ่มหนาพอจะลดความเร็วหรือลดแรงปะทะของลมได้ เช่น กระถินณรงค์ สนทะเล สะเดา-อินเดีย ขี้เหล็กบ้าน เป็นต้น ถ้าเป็นสวนผลไม้ก็ควรพิจารณาไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในสวนได้ เช่น ไม้ไผ่ ยูคาลิปตัส เป็นต้น


จากแนวทางที่กล่าวมานี้ ยังอาจมีวิธีการอื่นๆ อย่างเช่น การปักหลักด้วยเสาปูนเพื่อไว้สำหรับผูกยึดต้น ซึ่งเกษตรกรจะนำวิธีการใดไปใช้นั้น ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกและผลตอบแทนที่จะได้รับจากผลผลิตที่จะเกิดขึ้น เพราะแต่ละวิธีจะมีต้นทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องแรงงานคนเป็นหลักในการทำ และต้องใช้วัสดุที่มีคุณภาพเพื่อจะให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน  

ความคิดเห็น