ศสพ. ระยอง ขยายพันธุ์พริกไทยพันธุ์ซีลอน เพื่อสนับสนุนงานตามภารกิจกรมส่งเสริมการเกษตร

    จุดเรียนรู้ผัก เห็ด และสมุนไพร หนึ่งในจุดเรียนรู้ด้านการเกษตร ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดระยอง มีบทบาทหน้าที่การฝึกอบรมอาชีพแก่เกษตรกร ให้บริการทางการเกษตร และเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการเพื่อพัฒนาอาชีพการเกษตร โดยดำเนินกิจกรรม ดูแลแปลงแม่พันธุ์เพื่อใช้ผลิตปัจจัยทางการเกษตร (ต้นพันธุ์) ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร ได้ขยายต้นพันธุ์พริกไทยซีลอน หนึ่งในสมุนไพรซึ่งนิยมใช้เป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหารและส่วนประกอบของยาแผนโบราณ สำหรับสนับสนุนให้เกษตรกร หน่วยงานต่างๆ และงานตามภารกิจกรมส่งเสริมการเกษตร


    พริกไทย เป็นเครื่องเทศสำคัญที่มีความจำเป็นและมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาสมุนไพร และใช้ประจำวันในทุกครัวเรือน แม้จะใช้ในปริมาณน้อยแต่นับเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นไม่แพ้พืชเศรษฐกิจหลัก จึงมีความต้องการใช้ที่แน่นอนและเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร เป็นเครื่องเทศสำคัญที่มีความต้องการในการค้าในประเทศและต่างประเทศ พริกไทยของประเทศไทยมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการอาหารมีข้อได้เปรียบด้านรสชาติและกลิ่นเมื่อเทียบกับพริกไทยเวียดนามที่เป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกหรือพริกไทยกัมพูชาที่มีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ (สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร, 2563)   สารสำคัญในเมล็ดพริกไทย มี 2 กลุ่ม คือ piperinoids และ oleoresins ซึ่งกลุ่ม piperinoids ประกอบด้วยสาระสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ piperine, piperanine, piperidine, piperitine, pipercide โดยจะพบ piperine เป็นสารหลักในเมล็ดพริกไทย (Ikan, 1991)

    พริกไทยพันธุ์ซีลอน เป็นพริกไทยที่นำเข้ามาจากประเทศศรีลังกา นิยมปลูกเพื่อเก็บผลผลิตทานสด หรือที่นิยมเรียกกันว่า “พริกไทยอ่อน” เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถไว้ผลได้ถึง 6-7 เดือน เพราะต้นพริกไทยจะทิ้งใบทำให้สภาพต้นทรุดโทรมจนถึงตายได้ จึงนิยมเก็บเกี่ยวเป็นพริกไทยสดที่อายุหลังดอกบาน 3-4 เดือน ไม่นิยมนำมาแปรรูปเป็นพริกไทยดำซึ่งต้องเก็บเกี่ยวที่อายุ 6 เดือนเป็นต้นไป (แสงมณี, 2555)




ที่มาข้อมูล: สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร 2563




ความคิดเห็น